วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คู่มือระบบบริหารจัดการหลักสูตร (บทนำ)

คู่มือระบบบริหารจัดการหลักสูตร
สำหรับอาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย


ระบบบริหารจัดการหลักสูตร เป็นภาระงานหลักที่สำคัญ ที่จะทำให้ให้หลักสูตรคงอยู่และขับเคลื่อนไปได้ โครงสร้างการปฏิบัติงานและหน้าที่รับผิดชอบงานบริหารจัดการหลักสูตร ใกล้เคียงกันกับงานฝ่ายสนับสนุนในระดับคณะและมหาวิทยาลัย ซึ่งมีบุคลากรรับผิดชอบงานที่ชัดเจน แต่หลักสูตรไม่มีบุคลากรสายสนับสนุน อาจารย์ประจำหลักสูตรทุกคนจึงจำเป็นต้องมีสมรรถนะในการบริหารจัดการหลักสูตรทั้งระบบด้วยตนเอง

คู่มือระบบบริหารจัดการหลักสูตร ได้ระบุกรอบภาระงาน ขอบข่ายหน้าที่งาน และหน้าที่งานในแต่ละฝ่ายงานไว้โดยละเอียด การกำหนดขอบข่ายหน้าที่งานอาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อ จัดระบบงานและหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อให้อาจารย์ทุกคนมีภาระงานที่ชัดเจน และสามารถเชื่อมโยงงานกันได้อย่างราบรื่นเป็นระบบ โดยไม่เป็นภาระหนักแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจนเกินไป อีกทั้งยังมีหลักฐานตรวจสอบได้ทั้งระบบเอกสารและระบบออนไลน์ ช่วยให้งานของหลักสูตรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การกำหนดภาระงานและความรับผิดชอบสำหรับนักศึกษาสังกัดหลักสูตร ในฐานะผู้ช่วยกรรมการ เป็นการฝึกนักศึกษาให้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมตามทักษะเฉพาะฝ่ายงาน และมีจิตอาสาในการปฏิบัติงานร่วมถึงการร่วมงานกับเพื่อน พี่ น้องและอาจารย์ประจำหลักสูตร  ก่อให้เกิดความรักความผูกพัน และเกิดแนวคิดการการพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานแบบมีส่วนร่วมของหลักสูตร นำไปสู่การสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลต่อหลักสูตรโดยภาพรวม
 
ภาระงานและหน้าที่รับผิดชอบของอาจารย์ประจำหลักสูตร


อาจารย์ประจำหลักสูตร มีภาระงานรับผิดชอบงานหลักสูตรดังต่อไปนี้

1. ภาระงานบริหารจัดการหลักสูตร อาจารย์สังกัดหลักสูตร มีภาระงานบริหารจัดการหลักสูตรตามฝ่ายงานที่รับผิดชอบ 5 ฝ่ายงาน ตามโครงสร้างการบริหาร ตามแนวปฏิบัติของหลักสูตร และดำเนินการตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2552 และการประกันคุณภาพการศึกษา

สำหรับงานประกันคุณภาพ ถือเป็นหน้าที่ร่วมกันของอาจารย์สังกัดหลักสูตรทุกคน***

2. ภาระงานสอน ตามรายวิชาสังกัดหลักสูตร

3. ภาระงานนิเทศการสอน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู สังกัดหลักสูตร

4. ภาระงานที่ปรึกษา ตามศักยภาพของอาจารย์สังกัดหลักสูตร ได้แก่

(ก) ที่ปรึกษาประจำกลุ่มเรียน
(ข) ที่ปรึกษาชมรม
(ค) ที่ปรึกษาโครงการต่างๆ

5. ภาระงานวิจัยและงานบริการวิชาการ ตามเกณฑ์มาตรฐานภาระงานอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือตามตำแหน่งทางวิชาการ

6. ภาระงานอื่นๆ ที่คณะและมหาวิทยาลัยมอบหมาย ตามเอกสารมาตรฐานภาระงานของสถาบันอุดมศึกษา  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  ได้แก่ งานตามฝ่ายงานที่คณะและมหาวิทยาลัยมอบหมาย งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


ฝ่ายงานบริหารจัดการหลักสูตรและผู้รับผิดชอบ
หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
: เฉพาะผู้วางระบบงาน (ข้อมูลเมื่อ ปีการศึกษา ๒๕๕๓)


1. งานบริหาร(รวมงานแผนและงบประมาณ)
ฝ่ายบริหาร  ประธานหลักสูตร  เลขานุการหลักสูตร
ฝ่ายแผนและงบประมาณ

2. งานวิชาการ
ฝ่ายวิชาการ

3. งานพัฒนานักศึกษา
ฝ่ายพัฒนานักศึกษา

4. งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู
ฝ่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

5. งานประกันคุณภาพ
ฝ่ายประกันคุณภาพ
ฝ่ายฐานข้อมูลและสารสนเทศ

คำอธิบายการจัดทำคู่มือระบบบริหารจัดการหลักสูตร

  1. การแบ่งฝ่ายงานเป็น ๕ ฝ่ายตามโครงสร้างการบริหารงานคณะ เพื่อให้สะดวกในการจัดโครงสร้างหน้าที่ การปฏิบัติงาน การประสานกำกับดูแลติดตามงาน และเพื่อให้สอดคล้องกับการรายงานผลการปฏิบัติงานตามกรอบการประกันคุณภาพและกรอบการประเมินต่างๆ 
  2. หน้าที่งาน ในคู่มือระบบบริหารจัดการหลักสูตร สำหรับอาจารย์ประจำหลักสูตรนี้ ได้เขียนไว้ในรายละเอียด  แต่หลักสูตรสามารถปรับหน้าที่งานได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับปริบทของหลักสูตร
  3. หลักสูตรกำลังดำเนินการจัดทำใบกำกับหน้าที่งาน (Job Descriptions) เพื่อระบุหน้าที่หลัก สมรรถนะหลัก เพื่อให้สะดวกแก่การรายงานผลและการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานตามฝ่ายงานที่รับผิดชอบต่อไป
  4. เอกสารชุดนี้เขียนขึ้นในปริบทของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย โดยมีข้อต้องปรับปรุง และมีปริบทที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกหลายประการ เนื่องจากปัจจุบันสภาพแวดล้อมขององค์กรมีความเปลี่ยนแปลงสูง จึงต้องปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับงานของแต่ละหลักสูตรเป็นการเฉพาะ
  5. เอกสารชุดนี้เขียนเฉพาะภาระงานอาจารย์ประจำหลักสูตร ยังไม่ได้กล่าวถึงคุณสมบัติประจำตำแหน่ง และวาระการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการพิจารณาจ้างบุคลากรสายสนับสนุนตามภาระงานและจำนวนนักศึกษา ที่จำเป็นต้องรับเพิ่มตามนโยบายของมหาวิทยาลัย

ระบบบริหารจัดการหลักสูตร เป็นหน้าที่งานที่อาจารย์ประจำหลักสูตรทุกท่าน ได้ดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม การระบุชื่อ งานบริหารจัดการหลักสูตร ในโครงสร้างระดับคณะ และในคู่มือปฏิบัติงานของอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยนั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติงานในหลักสูตรจริงๆ จึงจะ"มองเห็น"งานบริหารจัดการหลักสูตร"อย่างชัดเจนเป็นระบบ หากไม่เห็นความสำคัญของงาน คำว่า งานบริหารจัดการหลักสูตร ก็อาจไม่ปรากฏอยู่ในคู่มือการปฏิบัติงานของอาจารย์

และสำหรับการกำหนดหน้าที่งานบริหารจัดการหลักสูตร  อันเป็นระบบขับเคลื่อนเพื่อให้หลักสูตรดำรงอยู่ได้ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พศ. 2552 ขณะนี้เท่าที่สืบค้นออนไลน์ ผู้เขียนยังไม่เห็นลิงก์ หรือ URL ที่นำไปสู่ข้อมูล"ระบบงานบริหารหลักสูตร"ดังเนื้อความที่เขียนไว้ในแต่ละระบบงานในบล็อกนี้ จึงอาจเป็นข้อมูลบ่งชี้เบื้องต้นว่า"ภาระงาน"ที่เขียนขึ้นทั้งหมด สำหรับมหาวิทยาลัยที่สามารถบริหารจัดการให้มีบุคลากรสายสนันสนุน แบ่งเบาภาระงานหลักสูตรได้ อาจารย์ก็อาจไม่ต้องแบกรับภาระงานสายสนับสนุน และไม่ต้องทำงานธุรการตามที่เขียนบรรยายไว้ในแต่ละระบบงานของเอกสาร"คู่มือระบบบริหารจัดการหลักสูตร"นี้ 
ขอขอบพระคุณ ทีมงานกรรมการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ทุกคนและชาวคณะวิทยาการจัดการ ในความเป็นกัลยาณมิตร เมื่อครั้งได้ปฏิบัติงานบริหารจัดการหลักสูตรนิเทศศาสตร์ร่วมกัน และขอขอบคุณ  ผศ.ดร.สุภาวดี พรหมมา ผศ.ลดาวัลย์ แก้วสีนวล เป็นอย่างสูงในความเป็นมิตร และการเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดคู่มือบริหารจัดการหลักสูตรฉบับร่างรายละเอียดหน้าที่งาน  ที่เขียนงานตามที่เราร่วมกันลงมือทำจริงๆเล่มนี้ เพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริหารในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ภาระงานที่เหมาะสมกับบุคลากรสายผู้สอน ในการทำงานวิชาการและพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ได้เต็มศักยภาพต่อไป

หากท่านผู้อ่านจะกรุณาให้ข้อคิด คำแนะนำเพื่อการปรับปรุงประการใด ผู้เขียนขอน้อมรับไว้ด้วยความยินดียิ่ง และจะนำไปปรับปรุงให้คู่มือเล่มนี้ให้สอดคล้องตามสภาพจริงยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป ขอขอบพระคุณอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้



สุขุมาล จันทวี

ผู้เขียน







ระบบงานบริหาร : ฝ่ายบริหาร (ต่อ)
http://thai-ed.blogspot.com/2010/06/1.html